วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผลไม้สร้างสุขภาพ

        สารสำคัญในผลไม้
         ผลไม้ในประเทศไทยจะมีการหมุนเวียนออกมาให้ได้กินกันตลอดทั้งปี และแต่ละชนิดมีสีสันที่แตกต่างกันไป ซึ่งผลไม้นอกจากเป็นแหล่งของน้ำ เกลือแร่และวิตามินชนิดต่างๆ แล้ว ยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย


อนุมูลอิสระ (free radical) 
         เกิดจากโมเลกุลหรืออะตอมที่ไม่เสถียรหรือไม่คงที่ เนื่องจากการขาดอิเล็กตรอนไป 1 ตัว ซึ่งโดยปกติร่างกายของคนเราจะมีโมเลกุลหรืออะตอมที่มีอิเล็กตรอนอยู่เป็นจำนวนคู่ (พันธะคู่)

         กรณีที่ร่างกายมีการสูญเสียอิเล็กตรอนจากการถูกอนุมูลอิสระแย่งจับ จะทำให้โมเลกุลของเซลล์ในร่างกายไม่เสถียรขาดความสมดุล ซึ่งส่งผลทำให้เซลล์ในร่างกายเสียหายได้จากอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายเซลล์ เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิต หรือได้รับสารต้านอนุมูลอิสระ เพียงพอที่จะไปยับยั้งหรือไปแย่งที่จับอนุมูลอิสระได้ภายในเซลล์ของร่างกาย จะส่งผลทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หัวใจและหลอดเลือด ต้อกระจกหรือการเสื่อมของดวงตาก่อนวัย โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ รวมทั้งอาจเกิดการแก่ก่อนวัยได้ 
 ยกตัวอย่างเช่น อนุมูลอิสระอาจไปทำลายผนังหลอดเลือดแดง และเมื่อมีไขมันไปสะสมอยู่บริเวณหลอดเลือดแดงที่ถูกทำลาย จะทำให้หลอดเลือดอุดตันนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด 

         อนุมูลอิสระอาจไปทำอันตรายเซลล์เนื้อเยื่อที่สำคัญๆ โดยการทำให้เซลล์เหล่านั้นเสียหาย ผลที่ตามมาคือเซลล์เหล่านั้นอาจพัฒนาต่อกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ 

         อย่างไรก็ตาม ร่างกายของเรามีกลไกในการกำจัดสารอนุมูลอิสระเหล่านี้ได้ เช่น การใช้เอนไซม์ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อจับกับสารอนุมูลอิสระ เช่น เอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส (superoxide dismutase - SOD) เอนไซม์คาทาเลส กลูทาไทโอน เพอร์ออกซิเดกส (catalase glutathione peroxidaes) ซึ่งจะไปทำลายสารอนุมูลอิสระที่เข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าเอนไซม์ที่ร่างกายสร้างไม่เพียงพอที่จะกำจัดสารอนุมูลอิสระ สารอนุมูลอิสระที่หลงเหลืออยู่นี้อาจจู่โจมเซลล์ ทำให้เซลล์เกิดความเสียหายดังกล่าวได้

         มีหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารอนุมูลอิสระสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ของร่างกาย หรือเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เช่น มลพิษในอากาศ ความร้อนจากแสงแดด ฝุ่นละออง ควันพิษจากการสูบบุหรี่ หรือจากท่อไอเสียรถยนต์ ยาบางชนิด รังสีแกมม่า หรือสภาวะที่ร่างกายเครียด เป็นต้น หรืออาจเกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลเสียต่อเนื้อเยื่อของเซลล์ทำให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติได้ และเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นความสามารถในการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระจะลดลง แต่อัตราการผลิตหรือการได้รับสารอนุมูลอิสระยังคงเท่าเดิม คนเราจึงมักเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่ถ้าได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอ สารต้านอนุมูลอิสระจะเข้าไปจับกับอนุมูลอิสระและนำอนุมูลอิสระเหล่านั้นไปทิ้งนอกเซลล์ ทำให้เซลล์ไม่ถูกทำลาย 

         ดังนั้น เราจึงต้องได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มเติมจากอาหาร เช่น วิตามินซี บีตาแคโรทีน ไลโคพีน ซีแซนทีนและลูทีน แอนโทไซยานิดิน (anthrocyanidin) สารประกอบโฟลีฟีนอลต่างๆ (เช่น แทนนิน คาเทชิน เป็นต้น) ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดดังกล่าวมีอยู่ในผลไม้

ที่มา:https://sites.google.com/site/noomnimlw/bthkhwam-1/bthkhwamphlmisrangsukhphaph

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น